ประมาณ 1 ใน 3 ของชายรักชาย (MSM) ในกรุงเทพฯ มีเอชไอวี คุณสามารถค้นหารายชื่อสถานบริการ ขั้นตอนการตรวจ และลงทะเบียนเพื่อรับการแจ้งเตือนการตรวจครั้งต่อไป
ปัจจุบันการตรวจเอชไอวีทำได้ง่ายและรู้ผลเร็ว คุณสามารถเลือกรับบริการที่เป็นมิตรกับเกย์/ชายรักชาย รักษาความลับ และบริการส่วนใหญ่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และคลินิกบางแห่งมียาต้านก่อน (PrEP) และหลังเสี่ยง (PEP) ให้บริการด้วย
"การตรวจไม่ยุ่งยากและรักษาความลับในทุกขั้นตอน

1. ลงทะเบียนและรับคำปรึกษาก่อนตรวจ
- รับบัตรคิวจากเจ้าหน้าที่
- รอพยาบาลเรียกตามหมายเลขบัตรคิวและพาไปยังห้องให้คำปรึกษาส่วนตัว และอธิบายขั้นตอนการตรวจ รวมถึงความหมายของผลเลือด
หากคุณเป็นคนไทย ค่าใช้จ่ายในการตรวจขึ้นอยู่กับคลินิก โดยมีการคิดค่าบริการ 4 รูปแบบได้แก่ :
- ตรวจเอชไอวีฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายที่คลินิกชุมชน (บางแห่ง) โดยไม่ต้องใช้บัตรประชาชน
- ตรวจเอชไอวีฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ปีละ 2 ครั้ง ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมหรือโรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยต้องแสดงบัตรประชาชนเมื่อเข้ารับบริการ
- ตรวจเอชไอวีที่โรงพยาบาลของรัฐ ค่าบริการ 20-200 บาทต่อครั้ง
- ตรวจเอชไอวีที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน ค่าบริการ 500-1,000 บาทต่อครั้ง
หากคุณเป็นชาวต่างชาติ ควรตรวจสอบค่าใช้จ่ายการตรวจเอชไอวีและค่าธรรมเนียมอื่นๆจากสถานบริการที่คุณเลือกไปตรวจ
2. การเจาะและตรวจเลือด
พยาบาลจะเจาะเลือดจากบริเวณข้อพับแขนด้านในหรือปลายนิ้ว โดยระบุเพียงตัวเลขข้างหลอดตัวอย่างก่อนส่งตรวจห้องปฏิบัติการ จากนั้นรอฟังผลประมาณ 30-45 นาที"

3. รับคำปรึกษาหลังการตรวจและการฟังผลเลือด
พยาบาลจะเรียกคุณเข้าไปฟังผลในห้องให้คำปรึกษาส่วนตัวเพื่อแจ้งผล
ผลการตรวจเลือดมี 2 แบบ:
- ผลบวก (Reactive)
- ผลลบ (Non-reactive)
การตรวจหาเอชไอวีจะได้ใช้ชุดตรวจ 2-3 ชุด และใช้วิธีตรวจที่แตกต่างกัน หากผลเลือดจากชุดตรวจแรกออกมาเป็นบวก (reactive) จะต้องนำเลือดไปตรวจอีก 2 ครั้งเพื่อยืนยันผล หากผลการตรวจทั้ง 3 ครั้งออกมาเป็น reactive จึงจะสามารถสรุปได้ว่ามี "ผลเลือดเป็นบวก"
ถ้าผลเลือดคุณออกมาเป็น “ผลบวก” อย่าตกใจ ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิต และมีสุขภาพดีได้เหมือนคนทั่วไปหากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และกินยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอคู่ไปกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย คุณสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของผู้มีเชื้อเอชไอวี
เมื่อผลเลือดออกมาเป็นบวก พยาบาลจะให้คำแนะนำเกี่ยวการการดูแลตนเองและแฟน/คู่ เอชไอวีไม่สามารถแพร่ได้ง่ายเหมือนไวรัสชนิดอื่น เชื้อเอชไอวีไม่สามารถส่งต่อในอาหาร น้ำดื่ม น้ำลาย ยุง หรือการกอด จูบ สัมผัสกับผู้มีเชื้อ ผู้มีเชื้อเอชไอวีสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยต้องป้องกันทุกครั้ง เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆและไม่ถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่ด้วย
พยาบาลอาจขอให้คุณติดต่อกับคนที่คุณมีเพศสัมพันธ์ด้วยในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาเพื่อบอกให้เขามาตรวจ เพราะเป็นไปได้ว่าเขาอาจได้รับเชื้อจากคุณโดยไม่ได้ตั้งใจ การรู้สถานะเอชไอวีของตนเองช่วยให้เราดูแลตัวเองและคนอื่นๆให้ปลอดภัย
ข้อควรจำ!
คุณไม่ควรเก็บความรู้สึกหลังรู้ผลเลือดไว้คนเดียว หากยังไม่พร้อมที่จะบอกคนในครอบครัว การบอกเรื่องนี้กับเพื่อนหรือคนที่เราไว้ใจอาจช่วยให้เราไม่ต้องแบกความรู้สึกไว้คนเดียว การบอกผลเลือดเป็นการตัดสินใจของคุณเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม เราแนะนำว่าคุณไม่ควรเก็บความกังวลใจไว้คนเดียว
ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่เล่าให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวฟังได้ พยาบาลสามารถแนะนำบริการให้ความช่วยเหลืออื่นๆในกรุงเทพฯที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับคุณ
เราแนะนำให้คุณรับบริการความช่วยเหลือจากองค์กรต่อไปนี้:
- สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
- มูลนิธิเดอะพอซโฮมเซนเตอร์
- มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
- มูลนิธิเอชไอวีประเทศไทย
คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการใช้ชีวิตเมื่อมีเอชไอวีได้ที่หน้า Live Positively บนเวบไซต์ TestBKK
ขั้นตอนการตรวจหา HIV แบบมาตรฐานสำหรับการตรวจหนึ่งตัวอย่าง ต้องใช้ชุดการตรวจที่แตกต่างกัน 2 ถึง 3 ชุด แต่อย่างไรก็ตาม ชุดอุปกรณ์การตรวจแรกเป็นชุดการตรวจที่มีความละเอียดสูง ซึ่งหากผลการตรวจออกมาเป็น "ไม่มีปฏิกิริยา" คุณจะรับผลการตรวจที่มีผลเป็น “ลบ”
ถ้าผลการตรวจของคุณออกมาเป็น “ลบ” คุณจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่จะทำให้คุณสนุกอย่างปลอดภัยและมีสุขภาวะทางเพศที่ดีอย่างต่อเนื่อง คุณจะได้รับคำแนะนำให้รับการตรวจ HIV ทุกๆ 3 เดือนด้วย
คุณสามารถเข้าดูข้อมูลที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทางเพศของตัวคุณและคนที่คุณมีเซ็กด้วย ได้ที่หน้า ปลอดภัยไว้ก่อน บนเวบไซต์ของเรา
แจ้งเตือนการตรวจครั้งต่อไป

เรามักจะจำไม่ได้ว่าไปตรวจเลือดครั้งสุดท้ายตอนไหนและตรวจครั้งต่อไปเมื่อไหร่ และเรามักไม่แน่ใจว่าต้องตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บ่อยแค่ไหน

หากคุณมีเพศสัมพันธ์บ่อย ควรรับการตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ชายรักชายควรตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แม้จะมีคู่นอนคนเดียวก็ตาม ถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นนอกเหนือแฟน คุณ (และคู่ของคุณ) ควรตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และถ้าคุณ (หรือคู่ของคุณ) เปลี่ยนคู่นอนเดือนละ 1-2 คน ควรตรวจเลือดทุกๆ 3 เดือน

TestBKK มีบริการแจ้งเตือนการตรวจเลือด เพียงกรอกข้อมูลด้านล่างนี้ คุณจะได้รับการแจ้งเตือนการตรวจครั้งต่อไปผ่านอีเมล หรือ SMS บริการนี้รักษาความลับและไม่มีค่าใช้จ่าย
คุณได้ลงทะเบียนแล้ว และต้องการแก้ไขข้อมูลหรือไม่?