การรักษาด้วยยาต้านไวรัส

กระบวนการรักษามีอะไรบ้าง?

เอชไอวีรักษาได้โดยใช้ยาหลายตัว ซึ่งเรียกว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (antiretroviral therapy- ART) แม้เอชไอวีจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาด้วยยาต้านไวรัสจะช่วยควบคุมจำนวนเอชไอวีในร่างกาย ทำให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพแข็งแรงใช้ชีวิตได้ตามปกติ และลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้ออีกด้วย

การรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ART) คืออะไร?

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสคือการใช้ยาต้านหลายกลุ่มในการควบคุมเอชไอวีในร่างกายไม่ให้เพิ่มจำนวน ซึ่งต้องกินให้ครบ ตรงเวลา และไม่สามารถหยุดยาได้เอง ยาต้าน การรักษาด้วยยาต้านไวรัสจะได้ผลก็ต่อเมื่อกินยาครบและตรงเวลา และปฏิบัติตนตามคำสั่งของแพทย์ แม้เอชไอวีจะไม่หมดไปจากร่างกายแต่ก็ถูกควบคุมจนมีจำนวนน้อยมากจนไม่สามารถทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้มีเชื้อเอชไอวีที่รับการรักษาด้วยยาต้านสามารถมีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาวได้เหมือนคนทั่วไป

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสยังช่วยลดโอกาสในการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ยิ่งมีเอชไอวีในร่างกายน้อยเท่าไหร่ โอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อสู่บุคคลอื่นก็ลดลงตาม ยาต้านมีทั้งประโยชน์ด้านการรักษาและการป้องกันการถ่ายทอดเชื้ออีกด้วย

ถ้าเริ่มยาต้านแล้ว จำเป็นต้องใช้ถุงยางหรือไม่?

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสช่วยลดโอกาสในการถ่ายทอดเชื้อให้กับคู่ นั่นหมายความว่าคู่เรายังมีโอกาสได้รับเชื้อเอชไอวีหากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน นอกจากนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสไม่ได้ครอบคลุมการติดเชื้อเพิ่มจากเอชไอวีสายพันธุ์อื่น หรือเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม ซึ่งจะทำให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสมีความลำบากมากขึ้น ดังนั้นแม้จะเริ่มยาต้านแล้วแต่ก็ยังต้องใช้วิธีป้องกันอื่นๆควบคู่ไปด้วย เช่น ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นชนิดน้ำ และรับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

ควรเริ่มรับการรักษาเอชไอวีเมื่อไหร่?

คุณสามารถเริ่มการรักษาได้ทันทีหลังจากรู้ผลเลือด การรักษาทันทีหลังจากรู้ผลเลือดส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว การเข้าสุ่กระบวนการรักษายังหมายถึงการลดโอกาสในการถ่ายทอดเชื้อให้กับคู่ แนวทางการรักษาเอชไอวี/เอดส์ของกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีเข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ว่าจะรับเชื้อมานานเท่าใด

หากลืมกินยาต้องทำอย่างไร?

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพต้องกินยาครบ ตรงเวลา และกินต่อเนื่อง ยาต้านไวรัสคอยควบคุมไม่ให้เชื้อเอชไอวีในร่างกายขยายตัว การลืมกินยาหรือกินยาไม่ตรงเวลาบ่อยๆทำให้การควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกายไม่ต่อเนื่องและเปิดช่องให้เชื้อกลับมาขยายพันธุ์ได้อีกและอาจปรับตัวจนกลายเป็นเชื้อดื้อยา ทำให้ยาต้านสูตรที่กินอยู่ใช้ไม่ได้ผลและต้องเปลี่ยนสูตรยา

หากลืมกินยาตามเวลาให้รีบกินทันทีที่นึกได้ หากลืมข้ามวันก็ยังสามารถกินได้ แต่ต้องกินก่อนกินยาเม็ดต่อไปอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หากเพิ่งนึกได้ว่าลืมกินยาและอีกไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็ถึงเวลากินยาเม็ดต่อไป ให้ทิ้งยาเม็ดเดิมและรอกินยาเม็ดต่อไป ห้ามนำยาเม็ดเดิมมากินพร้อมกับยาเม็ดต่อไป

ยาที่ใช้รักษาเอชไอวีมีอะไรบ้าง?

ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาเอชไอวีมีหลายกลุ่ม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเป็นรายบุคคลว่าควรใช้ยาตัวใดจากยาต้านกลุ่มใดในการรักษา ร่างกายของผู้มีเชื้อแต่ละคนตอบสนองต่อยาต้านไวรัสไม่เหมือนกัน ผู้มีเชื้อเอชไอวีและแพทย์ที่ทำการรักษาควรวางแผนการรักษาร่วมกัน

ผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสมีอะไรบ้าง?

ผู้มีเชื้อหลายคนมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของยาต้านไวรัส ซึ่งในอดีตยาต้านไวรัสรุ่นแรกๆมีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง แต่ด้วยเทคโนโลยีการผลิดที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้ยาต้านไวรัสในปัจจุบันมีผลข้างเคียงน้อยลง ส่วนใหญ่มักเกิดเมื่อเริ่มยาต้านในระยะแรกและจะค่อยๆลดลงจนหายไปเอง ซึ่งอาจใช้หลายวันหรือเป็นเดือนก็ได้ ผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสที่พบบ่อย ได้แก่:

หากกินยาต้านแล้วมีอาการข้างเคียงหรือแพ้ยาต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาปรับสูตรยา ห้ามเปลี่ยนยาหรือหยุดยาเอง

สามารถเข้ารับการรักษาเอชไอวีได้ที่ไหนบ้าง?

“ผู้ที่มีสัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักสามารถเข้ารับการรักษาเอชไอวีได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ์(หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือประกันสังคม)

ผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อนทุกครั้ง เพื่อขอใบส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิซึ่งระบุในบัตรทอง (คลินิกคนไข้เฉพาะทางไม่ได้เปิดบริการทุกวัน ควรสอบถามศูนย์ปฐมภูมิหรือโรงพยาบาลที่มีสิทธิก่อนทุกครั้ง)

กรณีที่คุณไม่สะดวกใจ หรือ ไม่พร้อมไปรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง สามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปีกรณีที่คุณมีสิทธิว่าง คือ มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำและไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น ต้องลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำก่อนใช้บริการ

ค้นหาเครือข่ายหน่วยบริการในกรุงเทพฯ ได้ ที่นี่ http://bkk.nhso.go.th/pp/stat/mcupmap.php.

คุณสามารถเช็คสิทธิการรักษาและสถานพยาบาลได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติhttp://wwwback.nhso.go.th/peoplesearch หรือสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1330 และสายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506

ชาวต่างชาติสามารถสอบถามข้อมูลบริการคลินิกยาต้านจากโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน

หากคุณสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้เอง ก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนที่มีบริการเอชไอวี”

ค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยยาต้านประมาณเท่าไหร่?

คนไทยสามารถรับบริการรักษาเอชไอวีได้ที่สถานบริการตามสิทธิ (สปสช. ประกันสังคม ข้าราชการ) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากคุณเลือกเข้ารับการรักษาเอชไอวีในโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน ค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยยาต้านอยู่ที่ประมาณ 4,000 – 5,000 ต่อเดือน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาตไทย มีบริการรักษาเอชไอวีและจำหน่ายยาต้านไวรัสภายใต้ควบคุมของแพทย์ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 900 – 1,200 ต่อเดือน (หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อยาต้านจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ฯ สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน: 02-252-2568 ถึง 9 (จันทร์-ศุกร์ 7.30น. – 16.00น., เสาร์ 8.30น. – 16.00น.) หรือที่เว็บบอร์ด) การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเป็นการรักษาต่อเนื่องที่ต้องกินยาไปตลอดชีวิต การวางแผนการรักษาจึงต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวร่วมด้วย

ถ้าใช้ยาเสพติดบางครั้ง จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาต้านเอชไอวีหรือเปล่า?

มียาเสพติดหลายชนิดที่เรายังไม่รู้ว่าจะลดประสิทธิภาพการทำงานของยาต้านเอชไอวีหรือเปล่าหากใช้ร่วมกัน คุณจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าคุณขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในคลินิกที่ร่วมกับ TestBKK เรามั่นใจว่าคุณจะไม่ถูกตีตราหรือตัดสินเรื่องประวัติการใช้ยาของคุณ

ข้อมูลที่เรารู้ตอนนี้ คือ ถ้าคุณกินยาต้านเอชไอวีกลุ่มสารยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส หรือพีไอ (Protease Inhibitors: PI) แล้วใช้ยาไอซ์ (Meth) ยาอี (MDMA) และยาบ้า (Amphetamine) ร่วมด้วย อาจส่งผลให้ระดับสารเสพติดในร่างกายของคุณเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยารุนแรงขึ้นจนอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น ถ้ายาต้านเอชไอวีที่คุณกินอยู่ประจำมีชื่อลงท้ายด้วย “nir” เช่น amprenavir, ratazanavir หรือ darunavir ยาเหล่านี้อาจมีสารยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอสอยู่ด้วย เพื่อความมั่นใจ 100% คุณควรเช็คจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

MENU

SOCIAL MEDIA